หลวงปู่โง่น โสรโย (ผู้สร้างพระประจำโรงเรียน)
วัดพระพุทธบาทเขารวก อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร
ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายสมหวัง พวงบางโพ ท่านมีความต้องการที่จะบูรณะ”พระพุทธวิโมกข์” ที่ หลวงปู่โง่น โสรโยและคณะศิษย์ ได้มอบให้กับสถานศึกษาต่างๆ จึงอยากจะประชาสัมพันธ์ ให้กับทุกๆท่าน ที่พอจะทราบว่าพระพุทธวิโมกข์ ในจังหวัดแพร่นั้น อยู่ที่ใดบ้าง หากท่านทราบ สามารถติดต่อไปที่ที่ว่าการอำเภอนั้นๆ ในจังหวัดแพร่ เพียงเท่านี้ ก็ได้ชื่อว่าท่านได้มีส่วนร่วมในการบูรณะ”พระพุทธวิโมกข์” ที่ หลวงปู่โง่น โสรโยและคณะศิษย์ ได้เคยมอบให้กับสถานศึกษาต่างๆแล้ว
ประวัติหลวงปู่โง่น โสรโย
หลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ.2447 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เวลา 05.58 น. บนแพกลางลำน้ำปิง บิดาเป็นหัวหน้าล่องแพไม้ซุง มารดาเป็นชาวลำพูน เมื่ออายุได้ประมาณ 10 ปี ซาโต้โมมอง เลขานุการข้าหลวงใหญ่ชาวฝรั่งเศสประจำอินโดจีน รับตัวเป็นบุตรบุญธรรม และได้ศึกษาที่ต่างประเทศจนจบปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยในเยอรมัน สามารถพูดได้ถึง 7 ภาษา เดิมนับถือศาสนาคริสต์
หลวงปู่โง่น ได้เกิดมาใช้ชีวิตในสมณเพศบำเพ็ญประโยชน์และคุณูปการแก่ประเทศชาติและพระพุทธศาสนา ตลอดถึงสังคมทุกระดับอย่างดียิ่ง เป็นแบบอย่างอันงดงามของผู้ที่จะบำเพ็ญประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ยุติธรรม มีความกตัญญูกตเวทีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หลวงปู่โง่นมีอัธยาศัยเปี่ยมล้นด้วยเมตตา สันโดษ รักสงบ เสียสละ ตามวิสัยของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้ฉลาดในอุบาย แนะนำสั่งสอนเหล่าประชากรโดยพุทธวิธี มีกุศโลบายในการรักษาตนให้พ้นจากภัยพิบัติทั้งภายนอกและภายใน มีวิสัยทัศน์ในการปฏิบัติตนที่สมสมัย มีจิตใจใฝ่รู้วิชาทุกแขนง เพื่อนำมาแก้ไขดัดแปลงก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ทำความแช่มชื่นให้แก่ผู้ที่ได้พบเห็น มีความเยือกเย็นเป็นสุขใจแก่ผู้เข้าใกล้ ด้วยเมตตาบารมีธรรมของท่าน อย่างน่าอัศจรรย์
หลวงปู่โง่น อุปสมบทเมื่อ พ.ศ.2482 ณ วัดศรีเทพประดิษฐาราม จังหวัดนครพนม โดยมีท่านเจ้าคุณสารภาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนมเป็นพระอุปัชฌาย์
มีพระมหาพรหมมา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่ออุปสมบทปีแรกพระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์ผู้อุปการะ คือ หลวงพ่อวัง ได้ร้องขอและส่งให้ไปอยู่กับพระสหายของท่าน คือ เจ้ายอดแก้ว บุญทัน บุปผรัตน์ ธมฺมญาโณ ที่วัดสุวรรณารามราช มหาวิหาร นครหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งต่อมาืเจ้ายอดแก้ว บุญทัน บุปผรัตน์ ได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ต่อมากรุงเวียงจันทน์เกิดเหตุจลาจล ใน พ.ศ. 2518 พระองค์ได้เสด็จลี้ภัยเข้ามาอยู่ในประเทศไทย และสิ้นพระชนม์ ใน พ.ศ. 2528 ส่วนหลวงปูโง่นในขณะนั้นเป็นพระนวกะ ได้เรียนนักธรรมและบาลีแบบลาว ซึ่งเจ้ายอดแก้ว บุญทัน บุปผรัตน์ ทรงรักใคร่โปรดปรานมาก เพราะดั้งเดิมเป็นสายญาติกันและใช้งานได้คล่อง พูดไทยได้เก่ง พูดลาวได้ดี ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสก็อาศัยได้ เพราะในระยะนั้นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ยังเป็นอาณานิคมเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ท่านจึงต้องการให้พระภิกษุที่คุยกับชาวต่างชาติ
รู้เรื่องอยู่ด้วย เมื่อเวลาว่างท่านให้เข้าป่า เพื่อแสวงหาต้นไม้ที่เป็นยาสมุนไพร
เพราะพระองค์ท่านทรงสนใจรับรู้ในเรื่องยาสมุนไพรมาก ตอนเข้าไปในป่าถึง
เขตทุ่งไหหิน ถูกทหารลาวและทหารฝรั่งเศสจับในข้อหาเป็นจารชนจากเมืองไทย
ไปสืบความลับ ถูกขังคุกขี้ไก่ 30 วัน พร้อมพระลาว 2 รูป กับเด็กอีก 1 คน
เด็กคนนั้น คือ เจ้าสิงคำ ซึ่งต่อมา ก็คือ ท่านมหาสิงคำ ผู้ทำงานช่วยพวกลาวอพยพร่วมกับสหประชาชาติอยู่ที่วัดยานนาวา กรุงเทพฯ ท่านจึงไปมาหาสู่บ่อย เพื่อขอ
ความช่วยเหลือให้พี่น้องชาวลาว หลวงปู่โง่นก็ได้ช่วยเหลือทุกอย่างเท่าที่ความสามารถจะมี
เรื่องการติดคุกขี้ไก่อยู่ที่ทุ่งไหหินนั้นสนุกมาก เขาเอาไก่ไว้ข้างบน คนและพระอยู่ข้างล่าง ไก่ขี้ใส่หัวตลอดเวลา เหม็นก็เหม็น ทรมานก็ทรมาน
สนุกก็สนุก ได้ศึกษาธรรมไปในตัว ความทราบถึงเจ้ายอดแก้ว พุทธชิโนรส
สกลมหาสังฆปาโมกข์ ท่านได้ร้องขอให้ปล่อยตัวแต่ทหารปล่อยเฉพาะพระลาว
2 รูป กับเด็ก 1 คน ส่วนหลวงปู่โง่นเขาไม่ปล่อย เพราะเข้าใจว่าเป็นคนไทย
ด้วยเหตุที่พูดไทยได้เก่ง ทั้งนี้ ขณะนั้นเป็นช่วงระหว่างสงครามอินโดจีน ฝรั่งเศส
ยุให้คนไทยกับคนลาวเป็นศัตรูกัน เห็นคนไทยก็จับขังหรือฆ่าทิ้งเสีย จึงมารู้ตัวเข้าคราวหลังว่าเรามันคนปากเสีย ปากพาเข้าคุกเพราะพูดภาษาไทย
ภายหลังสมเด็จพระสังฆราชลาวท่านออกใบสุทธิให้ใหม่ โอนเป็น พระลาวเป็นคนลาวไป เขาจึงปล่อยตัวออกมา แต่ก็ยังไม่พ้นสายตาของพวกนักสืบ จึงกราบทูลลาผู้มีพระคุณหาทางมุ่งกลับเมืองไทย แต่ไม่รู้จะมาอย่างไร จึงตัดสินใจไปพบคนที่รู้จักรักใคร่ คือ ท้าวโง่น ชนะนิกร ซึ่งเป็นข้าราชการลาวอยู่ ในระยะนั้น ทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงมีแต่หลุมหลบภัยและเสียงปืนที่ไทยกับลาวยิงกันไม่ขาดระยะ หลวงปู่โง่นต้องธุดงค์ปลอมแปลงตัว เดินเลียบชายฝั่งแม่น้ำโขงลงมาทางใต้จนใกล้
ถึงเมืองท่าแขก ก็ได้รับความช่วยเหลือจากพระลาวที่รู้จักกัน คือ ครูบาน้อย
หาทางให้ได้เกาะเรือของชาวประมงข้ามฝั่งมาไทย พอถึงแผ่นดินไทยก็ถูก
ร้อยตำรวจเอกเดช เดชประยุทธ์ และร้อยตำรวจโทแฝด วิชชุพันธ์ จับในข้อหา
เป็นพระลาวหลบเข้ามาสืบราชการลับในราชอาณาจักรไทย ถูกจับเข้าห้องขัง
ฐานจารชนอยู่ 10 วัน ร้อนถึงพระพนมคณานุรักษ์ ซึ่งเป็นอดีตเจ้าเมือง ได้เจรจา
ให้หลุดรอดออกมา พอพ้นจากห้องขังมาได้ก็เข้ากราบพระอุปัชฌาย์ คือ ท่านเจ้าคุณสารภาณมุณี ท่านเจ้าคุณสารภาณมุณีสั่งให้ไปศึกษาปฏิบัติธรรมพระกรรมฐาน
กับพระอาจารย์วังที่ถ้ำไชยมงคลภูลังกา และไปหาพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ตอนเข้าพรรษาพระอุปัชฌาย์
ให้มาจำพรรษาอยู่วัดอรัญญิกาวาส จังหวัดนครพนม
พ.ศ. 2485 สอบได้นักธรรมตรี พ.ศ. 2486 สอบได้นักธรรมโท พ.ศ. 2487 สอบได้นักธรรมเอก ต่อมาหนีออกธุดงค์เข้าถ้ำจำพรรษาที่ถ้ำบ้านยางงอย
อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม กับอาจารย์สน อยู่ 1 ปี พระอุปัชฌาย์รู้ข่าวเรียกตัวกลับ
สั่งให้มาอยู่วัดอรัญญิกาวาส จังหวัดนครพนม โดยบังคับให้เป็นครูสอนนักธรรมโท อยู่วัดศรีเทพ 2 ปี เพราะวัดทั้งสองอยู่ใกล้กันไปกลับได้สบาย ผลของการสอนได้ผลดีมาก นักเรียนสอบได้ยกชั้นทั้ง 2 ปี พระอุปัชฌาย์ชมเชยมาก และปีต่อมา
ได้เปลี่ยนเป็นครูสอนนักธรรมเวลาเช้า ส่วนเวลาบ่ายหลวงปู่โง่นเป็นนักเรียนบาลีไวยากรณ์
พ.ศ. 2491 สอบเปรียญธรรม ป.ธ.3 แต่ต้องตกโดยปริยายเพราะข้อสอบรั่ว
ทั่วประเทศจึงต้องสอบกันใหม่ หลวงปู่โง่นเกิดความไม่พอใจในวิธีการเรียนแบบสกปรก
จึงย้อนกลับไปพึ่งใบบุญของสมเด็จพระสังฆราชแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตย
ประชาชนลาว ไปเรียนและตั้งใจเรียนจนสอบเทียบได้เปรียญ 5 โดยสมเด็จพระยอดแก้ว
สกลมหาปรินายกออกใบประกาศนียบัตรให้ จากนั้นท่านสั่งให้ไปเรียนต่อที่ประเทศพม่า พอดีขณะนั้นพระภิกษุสงฆ์ในพม่าพากันเดินขบวนขับไล่รัฐบาลของอูนุ
มีการจับพระชาวต่างชาติเข้าคุก หลวงปู่โง่นก็พลอยโดนด้วย แต่โชคดีที่พระมหานายก
ของพม่า คือ ท่านอภิธชะมหา อัตฐะคุรุ ได้ขอร้องและทำใบเดินทางให้เข้าประเทศอินเดีย เลยเข้าไปเมืองฤๅษีเกษ แคว้นแคชเมียร์ ไปฝึกฝนอบรมวิชาโยคะ 1 ปี
เมื่อมีเพื่อนนักโยคะชักชวนขึ้นไปเมืองยางเซะและเมืองลาสะ ซึ่งเป็นเมืองหลวง
ของประเทศธิเบต เพื่อศึกษาภูมิประเทศและหลักการทางพระพุทธศาสนามหายาน
พ.ศ. 2494 กลับมาเมืองไทย ท่านเจ้าคุณรัชมงคลมุนี วัดสัมพันธวงศ์ ส่งให้ไปเป็นหัวหน้าก่อสร้างอุโบสถจัตุรมุขหลังใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก
ที่วัดสารนาถธรรมาราม อำเภอแกลง จังหวัดระยอง อยู่ได้ 5 ปี อุโบสถจวนเสร็จ
ขออำลาหนีไปพักผ่อนชั่วคราว ไปพักอยู่กับญาติ ๆ ที่เมืองอังกานุย ประเทศนิวซีแลนด์
แล้วไปอยู่แคนเบอร่า ประเทศออสเตรเลีย อยู่แห่งละ 1 ปี แล้วไปอาศัยอยู่กับ
ญาติโยมเก่าที่เขาเคยอุปการะอยู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่เมืองรียอง ประเทศฝรั่งเศส
พ.ศ. 2498 กลับเมืองไทยไปช่วยท่านมหาโฮม คือ เจ้าคุณราชมุนี
วัดสระประทุม ที่ปากช่อง จากนั้นเดินธุดงค์เข้าป่าเข้าถ้ำหลายแห่ง คือ ถ้ำเชียงดาว อำเภอเชียงดาว ถ้ำตับเต่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วล่องใต้ไปอยู่ถ้ำจัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ถ้ำขวัญเมือง อำเภอสวี จังหวัดชุมพร แล้วมาถ้ำมะเกลือ เหมืองปิล็อก จังหวัดกาญจนบุรี จากนั้นขึ้นถ้ำฤๅษี (ถ้ำมหาสมบัติ) ถ้ำเรไร
จังหวัดเพชรบูรณ์
ในปี พ.ศ. 2502 หลวงพ่อแพร คือ ท่านเจ้าคุณเพชราจารย์
เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ในขณะนั้น ได้นิมนต์มาสร้างโรงเรียนประชาบาล
วัดท่าข้าม และสร้างพระประธานใหญ่ไว้ที่เขตอำเภอชนแดน แล้วท่านร้องขอ
ให้ไปอยู่แคมป์สน เขตอำเภอหล่มสัก อยู่ได้ปีเดียวท่านเจ้าคุณวิมลญาณเวที
วัดมงคลทับคล้อ ซึ่งเป็นเครือญาติกันมาก่อนขอให้มาสร้างฌาปนสถานและบูรณะศาลาการเปรียญวัดมงคลทับคล้อ พอเสร็จเรียบร้อยท่านร้องขอให้มาช่วยเหลือ
ประจำอยู่วัดพระพุทธบาทเขารวก เมื่อปี พ.ศ. 2507 เพราะเป็นแดนทุรกันดาร หน้าแล้งจะขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ ด้วยความเห็นชอบและเลื่อมใสของท่านเจ้าอาวาส ตลอดจนญาติโยมได้ลงมือพัฒนาสถานที่นี้ให้ได้รับความสะดวกสบายขึ้นหลายอย่าง อาทิ ได้ขุดสระกักเก็บน้ำไว้ในบริเวณหมู่บ้าน เก็บน้ำให้ชาวบ้านไว้ใช้ตลอดปี สร้างถนนจากบ้านวังหลุมถึงเขารวกเป็นระยะทาง 5.5 กิโลเมตร และสร้างโรงเรียนประถมศึกษาเป็นอาคารชั้นเดียว ยาว 50 เมตร มีห้องเรียน 8 ห้อง อีกทั้งปั้น รูปสมเด็จพระปิยมหาราชไว้ที่หน้าเสาธง มีขนาด 1 เท่าครึ่ง ตั้งอยู่ตลอดจนถึง ทุกวันนี้ และในวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปีจะมีพิธีถวายบังคมพระบรมรูป พร้อมทั้งแจกทุนการศึกษาแก่เด็กยากจนไม่น้อยกว่าปีละ 100 ทุน ตลอดมาจนทุกวันนี้
หลวงปู่โง่นละสังขารของท่านเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2542 รวมสิริชนมายุได้ 94 ปีเศษ นับว่ามีอายุมากแต่สังขารของหลวงปู่โง่น ไม่แก่เฒ่าอย่างที่ทุกคนคิด เพราะท่านมีวิธีรักษาจิตเพื่อชะลอความแก่ไว้ด้วยธรรมสมบัติ
มีธรรมสมบัติเป็นจิตใจจึงเป็นใจที่สงบ อันใจที่สงบนั้นย่อมไม่แก่ชราดัง
พระพุทธภาษิตว่า สตญฺจ ธมโม นชรํ อุเปติ ธรรมของผู้มีใจสงบนั้นย่อมไม่เข้าถึงความแก่ชรา ก็คือการชะลอความแก่ไว้ด้วยธรรมสมบัตินั่นเอง